ENGLISH
ความเป็นมา โครงสร้าง
วิสัยทัศน์ / พันธกิจ
กิจกรรม
สารวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 25565
สารวันเอดส์โลก
งานชุมนุมผู้สูงอายุฯ ครั้งที่ 76
งานชุมนุมผู้สูงอายุฯ ครั้งที่ 8
ชมรมเวชบุคคลคาทอลิกแห่งประเทศไทย
คณะอนุกรรมการฯ เพื่อผู้สูงอายุ
คณะอนุกรรมการฯ งานเอดส์
จดหมายข่าว
โครงการใหม่แผนกสุขภาพอนามัย
แผนที่เดินทาง
บทที่ 1
1. ในฐานะคริสตชนเราเข้าใจเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานกันอย่างไรบ้าง?
เราจะคุยกับคนที่กำลังประสบความทุกข์ทรมานอย่างไร?

ทำไมถึงต้องเป็นเรา? ทำไมถึงเกิดขึ้นตอนนี้? พระเจ้ากำลังเล่นกลอะไรกับฉัน?
เหล่านี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติต่อการเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานซึ่งดูจะไม่มีความหมายอะไรสำหรับเรา เพราะว่าความทุกข์เป็นความเร้นลับและเราก็มีความรู้สึกว่าเราช่วยอะไรไม่ได้เลยเมื่อต้องเผชิญกับมัน บ่อยครั้งมีการประจญที่จะหาคำตอบง่ายๆ หรือหาทางออกแบบรวบรัดสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาการทรมานชนิดที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกเคยได้ยินบางคนพูดว่า "การทรมานเป็นเครื่องมือที่พระเป็นเจ้าทรงใช้เรียกความสนใจของเราเพื่อที่จะบรรลุพระประสงค์ของพระองค์ในชีวิตของเรา มันมิได้เป็นเช่นนั้นเลย พระเป็นเจ้าไม่ได้เป็นผู้ประทานความทุกข์ทรมาน ดังที่พระเป็นเจ้าได้ทรงมีพระดำรัสต่อชนชาติอิสราเอลไว้ว่า"ประชากรของเราไม่เชื่อฟังเรา หากชนชาติอิสราเอลเดินตามหนทางของเรา
เราจะปราบศัตรูของพวกเขาให้ราบคาบเพียงแค่สัมผัสครั้งเดียว
เพียงยกมือขึ้นต้านศัตรูของพวกเขา" (สดด. 81: 13-14)

พระเป็นเจ้าเป็นองค์แห่งความรัก ทรงมีพระทัยอ่อนโยนและเมตตาสงสาร เป็นไปไม่ได้ที่พระองค์จะทรงทำให้เราตกที่อับและประทานให้เราเจ็บหนักเพื่อที่จะเตือนสติเรา โลกที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้เต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์ ความอ่อนแอและข้อจำกัด การกระทำหรือการละเว้นของเราบ่อยครั้งสามารถนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานแก่ผู้อื่นและแก่ตัวเราเอง วิธีที่เราจัดระเบียบให้กับชีวิตของเราอาจมีผลสืบเนื่องตามมา เช่น ทำให้ระบบน้ำดื่มน้ำใช้ของเราเกิดมลพิษ การตกงานสำหรับผู้คนนับจำนวนไม่ถ้วนทำให้พวกเขาไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสวัสดิการด้านสุขภาพหรือที่อยู่อาศัย ภัยธรรมชาติก็เช่นกัน มันนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน แต่มันก็เกิดขึ้นโดยปรากฏการณ์ตามธรรมชาติซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งแห่งโลกเราที่ขาดความสมบูรณ์ เราไม่บังอาจที่จะเสแสร้งว่า เราเข้าใจในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราสามารถที่จะวางใจได้ว่า พระเป็นเจ้ามิได้ทรงเป็นผู้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานสำหรับเราผู้มีความเข้าใจเพียงเล็กน้อยต่อพระองค์ เมื่อพูดกันมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ขอบอกได้แต่เพียงว่า ความทุกข์ทรมานยังคงเป็นเรื่องที่เร้นลับเสมอ

การใช้โทษบาปและความทุกข์ทรมาน
เราอาจพูดถึงพระเป็นเจ้าได้ว่าพระองค์ทรงตีสอนเราเฉกเช่นพ่อแม่ที่ดีที่ลงโทษบุตรเพื่อช่วยให้บุตรเติบโตขึ้นเป็นคนดีมีความสุข พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า องุ่นทุกต้นต้องมีการพรวนดินเพื่อให้ได้ผลดีดก1 แน่นอนที่สุด พระเป็นเจ้าทรงต้องการให้เราใช้โทษบาปและทำการพลีกรรมด้วยความสมัครใจของเราเอง เพื่อที่เราจะได้สาละวนอยู่กับสิ่งที่ดีมีความหมายแท้จริงในชีวิต แต่นี่แตกต่างกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียคนที่เรารัก หรือการที่ทราบว่าท่านกำลังป่วยอยู่ในขั้นวาระสุดท้าย แน่นอน เราคงไม่ขอให้พระเป็นเจ้าทรงประทานโรคมะเร็งแก่เราหรือต้องการให้เยาวชนคนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

พระเป็นเจ้าทรงได้ยินเสียงร้องแห่งประชากรของพระองค์
เราทุกคนรู้สึกช่วยอะไรไม่ได้เลยเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมาน เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อบรรเทาทุกข์นั้น เกิดมีความรู้สึกภายในว่าอยากขอความเมตตาแทนคนที่กำลังทนทุกข์ เราตะโกนออกมาดังๆ ในความสิ้นหวังของเรา เราทราบจากพระคัมภีร์ว่า พระเป็นเจ้าทรงสดับฟังเสียงเรียกร้องแห่งประชากรของพระองค์2 พระองค์ทรงตอบสนองต่อคำวิงวอนของพวกเขา นี่คือเหตุผลสำหรับผู้ที่กำลังรับทุกข์และผู้ที่รักพวกเขาจะได้มีโอกาสเข้าใกล้ชิดพระมากยิ่งขึ้นในเวลาแห่งความทุกข์โศก มันไม่ใช่การเล่นกลของพระเป็นเจ้าแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระบิดาผู้เป็นองค์แห่งความรักและบุตรที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ พระเป็นเจ้าทรงประทับอยู่ใกล้ชิดกับเรามากขึ้นเมื่อเรากำลังเจ็บปวด พระองค์ทรงให้อิสระแก่เราที่จะเรียกหาพระองค์หรือไม่แล้วแต่เราจะเลือกเอา พระองค์ทรงเคารพเราและตามใจเรา พระองค์ทรงปรารถนาที่จะรวมพวกเราไว้ข้างพระองค์ดังที่พระเยซูเจ้าทรงตรัสไว้ "เฉกเช่นแม่ไก่ที่รวบรวมลูกไก่ไว้ใต้ปีกในเวลาที่มีอันตราย"3 เราต้องเรียนให้พระองค์ทราบว่าเรากำลังได้รับบาดเจ็บและต้องการให้พระองค์ทรงช่วย

พระเยซูเจ้าทรงดำเนินไปพร้อมกับเราในความทุกข์ทรมานของเรา
ในหนังสือพระธรรมใหม่เราทราบดีว่า พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกสงสารเมื่อได้ทรงเห็นผู้ใดได้รับทุกข์ทรมาน พระองค์ทรงบำบัดรักษาผู้ป่วย ทำให้คนง่อยพิการเดินได้ และทรงฟื้นชีพผู้ตาย4 หลังการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า บรรดาอัครสาวกยังคงเป็นประจักษ์พยานถึงพระเมตตาของพระเป็นเจ้าโดยการทำอัศจรรย์บำบัดผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เพียงเงาของนักบุญเปโตรก็เพียงพอที่จะบำบัดรักษาคนพิการและผู้ป่วยได้ พระเป็นเจ้าผู้ทรงเป็นบิดาของเราต้องการให้เราทราบว่า พระองค์ทรงมอบพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์กับการทนทุกข์ทรมานแสนสาหัสบนไม้กางเขน เพื่อที่พวกเราจะได้พบหนทางเดียวกันกับพระองค์อาศัยความทุกข์ทรมานของเรา เพื่อเราจะได้สามารถบรรลุถึงความบริบูรณ์แห่งชีวิต พระเยซูเจ้าทรงได้รับทุกข์ทรมานและพระองค์ทรงบอกเราว่า เราจะไม่อยู่ตามลำพังเมื่อเราทุกข์ทรมาน เราสามารถเรียกหาพระองค์ เพื่อที่จะทำให้ทุกข์ของเราเบาบางลงและแอกของเราเป็นสิ่งง่าย5 นักบุญเปาโลกล่าวในจดหมายถึงชาวฮีบรู บอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงถ่อมพระองค์เป็นเหมือนอย่างเราบริบูรณ์โดยอาศัยการทรมานของพระองค์ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้ด้วยความไว้วางใจในเวลาที่เราต้องการความช่วยเหลือ6 แม้เมื่อเราทำให้ชีวิตของเรายุ่งเหยิงและเดินทางผิด พระเป็นเจ้าโดยอาศัยพระคริสตเจ้าจะก้าวเข้ามาในส่วนลึกแห่งความทุกข์ทรมานพร้อมกันกับเรา
พระเยซูเจ้าคือหนทางนำเราสู่พระบิดา และหนทางของเราสู่ความสว่าง พระองค์จะทรงประทานพระจิตของพระองค์ให้คอยนำทางเราผ่านความมืดและความทุกข์ทรมาน7 เราจะไม่มีวันอยู่เพียงลำพัง แม้เมื่อเรารู้สึกเหงาสุดๆ พระเป็นเจ้าจะทรงประทับอยู่กับเราเสมอ

ทุกข์ทรมานเพื่อผู้อื่น
ในฐานะคริสตชนเราทราบดีว่า หากเรายอมทนรับความทุกข์ทรมานของเราด้วยความอดทนและถวายความทุกข์ยากของเราร่วมกับพระทรมานของพระคริสตเจ้า เราจะได้รับมงกุฎแห่งพระสิริรุ่งโรจน์ในที่สุด นั่นคือชีวิตนิรันดรกับพระเป็นเจ้า8 เราสามารถถวายความทุกข์ยากลำบากของเราร่วมกับการทรมานของพระคริสตเจ้าเพื่อนำโลกให้เข้ามาใกล้ชิดกับพระเป็นเจ้ายิ่งขึ้น นี่คือรหัสธรรมน่าอัศจรรย์ของการมีส่วนร่วมของเรา ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราสามารถที่จะดำเนินชีวิตเพื่อกันและกัน ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าในความทุกข์ทรมานของเรา อีกประเด็นหนึ่ง ในจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงชาวโครินธ์ นักบุญเปาโลกล่าวถึงการที่พวกเราเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า หากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งเจ็บ อวัยวะอื่นๆ ก็มีส่วนได้รับทุกข์ไปด้วย9 การที่เราเต็มใจรับภาระของผู้อื่นและร่วมทุกข์กับพวกเขาเกิดจากความเชื่อลึกๆ ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของพระกายพระคริสตเจ้าที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน
เราไม่อาจเสแสร้งทำเป็นผู้รู้คำตอบทั้งหมดเกี่ยวกับปัญหาของความทุกข์ทรมานและความบาปต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก จะอย่างไรก็ตาม ความเชื่อของเราในองค์พระเยซูคริสตเจ้าทำให้ความทุกข์ยากของเรามีความหมายและมีความหวัง

2. คำแนะนำในการเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน
ก่อนการเยี่ยม

1. สวดภาวนาก่อนออกเยี่ยม สวดพร้อมกับเพื่อนที่จะออกไปเยี่ยมด้วยกัน หากทำได้ วิงวอนขอพระจิตเจ้าให้ช่วยท่านเตรียมพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์
2. หาเหตุผลสำหรับการเยี่ยม หากเป็นการเยี่ยมครั้งแรกของท่าน ให้ถามตนเองถึงวัตถุประสงค์ของการเยี่ยม จะต้องทำอย่างไรสำหรับการแนะนำตัวต่อครอบครัวที่กำลังจะไปเยี่ยม จะเป็นการดีกว่าที่จะไม่ไปเยี่ยม หากท่านไม่สามารถที่จะไปเยี่ยมซ้ำอีก หรือไม่มีเจตนาที่จะทำการเยี่ยมต่อๆ ไป นอกจากนี้ท่านไม่ควรจะมีความคิดประหลาดๆ เช่น นำผู้ทิ้งวัดกลับเข้าวัด หรือเปลี่ยนความเชื่อของเขาให้มานับถือศาสนาคาทอลิก หากแต่หัวใจของท่านควรเป็นเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระเมตตาและสงสาร
3. ก่อนออกเยี่ยมควรนัดเสียก่อน ท่านควรทราบล่วงหน้าว่า ผู้ป่วยหรือครอบครัวของเขาต้องการให้มีคนมาเยี่ยม หรือว่าท่านอยากไปเยี่ยมเองโดยที่ไม่มีการขอร้อง ตรงนี้สำคัญมาก ท่านไม่ควรไปเยี่ยม หากไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า
4. หาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาที่ครอบครัวนั้นนับถือและเกี่ยวกับผู้ป่วยด้วย และสำนึกให้มากเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและวิธีการแต่งกายหรือเกี่ยวกับเรื่องของอาหารการกิน บางคนไม่อยากให้คนที่เป็นเพศตรงข้ามมาเยี่ยม ผู้เยี่ยมที่เป็นเพศเดียวกันกับผู้ป่วยดูจะเหมาะสมกว่า
5. อย่าใส่เสื้อผ้าสีดำ ซึ่งในหลายๆ วัฒนธรรมหมายถึงการไว้ทุกข์ ให้ใส่เสื้อผ้าที่ดูแล้วสบายตา
6. จงทำใจให้พร้อมที่จะรู้สึกว่าตนช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ต้องเสียน้ำตา หรือรู้สึกถึงการสูญเสียเมื่อท่านทราบข่าวเศร้าของเพื่อนบ้าน จงหลั่งน้ำตาไปกับเขาหากคุณรู้สึกเช่นนั้น จงพร้อมที่จะรับฟังและสวดภาวนาในใจขณะที่กำลังรับฟังเรื่องราวของเขา นี่เป็นการกระทำที่ให้กำลังใจแก่เขามากกว่าคำพูดใดๆ ที่ท่านอาจนำมากล่าวได้
7. เลือกวันเวลาที่สะดวกสำหรับครอบครัวที่ท่านจะไปเยี่ยม ใช้เวลาอยู่กับเขาพอสมควรและไม่ควรแสดงอาการรีบเร่ง

ระหว่างการเยี่ยม
1. แนะนำตนเองว่ามาจากวัดไหน หน่วยงานไหน หรือจากเพื่อนบ้านกลุ่มใดแล้วแต่กรณี แสดงให้เขาเห็นว่า ท่านไม่ได้มาเยี่ยมตามลำพัง แต่นำเอาคำภาวนาและความห่วงใยของทั้งชุมชนมา ฝากด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้เขามั่นใจว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่เห็นใจและอยู่เบื้องหลังในยามที่เขาเกิดมีความยุ่งยาก
2. อย่าให้สัญญาใดๆ ทั้งสิ้นที่ท่านไม่สามารถหรือไม่ได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติจะเป็นการดีกว่าที่จะรู้สึกว่าท่านไม่มีประโยชน์และไม่สามารถช่วยอะไรได้ แทนที่จะทำให้ผู้อื่นต้องผิดหวังหรือทรยศต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของเขาแต่ควรช่วยกันคิดว่าท่านและชุมชนของท่านพอจะช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง
3. ประเมินความต้องการของผู้ป่วย คุยถึงความต้องการของเขากับครอบครัวของเขา เป็นสิ่งสำคัญที่จะปฏิบัติตามความปรารถนาของทั้งครอบครัวและของผู้ป่วย ขออนุญาตเขาก่อนที่จะลงมือทำอะไร ผู้ป่วยและครอบครัวอาจยอมรับความช่วยเหลือของท่านหลังจากที่พวกเขาให้ความไว้เนื้อเชื่อใจท่านเท่านั้น และสิ่งนี้อาจต้องการการเยี่ยมมากกว่าหนึ่งครั้ง
4. ขออนุญาตเสียก่อนที่จะสวดภาวนาพร้อมกันหรือสวดสำหรับผู้ป่วยแล้วแต่ศาสนาของเขาท่านอาจสวดเงียบๆ หรือส่งเสียงดังพอได้ยิน ท่านอาจเชิญสมาชิกของครอบครัวให้ร่วมสวดภาวนากับท่านก็ได้
5. หากผู้ป่วยเป็นคาทอลิก  ท่านควรถามว่าเขาต้องการให้พระสงฆ์มาเยี่ยมไหมเพื่อรับศีลอภัยบาปและรับศีลเจิม ให้ถามด้วยว่าพวกเขาต้องการที่จะรับศีลมหาสนิทไหม
6. ศัตรูร้ายที่สุดคือ การเร่งรีบ จงพร้อมที่จะอุทิศเวลาของท่าน
7. ฟังมากกว่าพูด ถามในเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจขึ้น อย่าพยายามสอดรู้สอดเห็นเพื่อหาข้อมูลที่เขายังไม่ได้บอก
8. อย่าพยายามกลบเกลื่อนเรื่องที่สร้างความเจ็บปวด ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องมีคำตอบ แต่ท่านสามารถรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจและรับรู้ถึงความเจ็บปวดและความกังวลใจของผู้ป่วย เลี่ยงใช้คำพูด เช่น "ไม่ต้องเป็นห่วง ทุกอย่างจะดีขึ้นเอง" คำพูดดังกล่าวเป็นการปิดปากผู้ป่วยซึ่งรู้ดีว่าท่านไม่อาจที่จะเข้าใจถึงความเจ็บปวดของเขาได้ ปล่อยให้เขาร้องไห้ เพียงแต่ทำให้เขามั่นใจว่า ท่านอยู่ที่นั่นเพื่อเขา
9. การไปเยี่ยมครั้งละสองคนมักจะบังเกิดผลดีกว่าคนเดียว เพื่อที่คนหนึ่งจะได้อยู่ข้างผู้ป่วย ส่วนอีกคนพูดคุยถึงความต้องการของผู้ป่วยกับครอบครัวของเขา หรือเตรียมจัดหาเครื่องดื่ม หรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์
10. การแตะสัมผัสอาจทำให้เกิดความสบายใจได้มาก ภาษากายเป็นการเน้นถึงความสนใจในการมาเยี่ยมของท่าน ให้ระมัดระวังสำหรับในบางกรณีที่การสัมผัสนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควร
11. พยายามบอกล่วงหน้าถึงการเยี่ยมครั้งต่อไปของท่านเสมอ  บอกเขาให้มั่นใจในคำภาวนาของชุมชนและความพยายามของท่านที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวของเขา ช่วงที่ไม่มีการเยี่ยมหากจะมีการโทรศัพท์ไปไถ่ถามจะเป็นความบรรเทาที่ดีสำหรับครอบครัว ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ยังมีใครบางคนที่คิดถึงพวกเขาและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ
12. การเยี่ยมอย่าใช้เวลายาวนานเกินไป ผู้ป่วยอาจมีคนมาเยี่ยมแยะ หรืออาจเหน็ดเหนื่อยง่าย จงมีความรู้สึกไวต่อความเป็นส่วนตัวของเขาด้วย
13. จงอย่าได้พูดเกี่ยวกับผู้ป่วยขณะที่อยู่พร้อมหน้ากัน ถึงแม้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวแล้วก็ตาม เขาอาจได้ยินท่านพูดถึงแม้ว่าเขาไม่สามารถที่จะพูดตอบ เป็นเรื่องน่าละอายมากที่เขาจะถูกกล่าวถึงและได้รับการปฏิบัติเหมือนกับเป็นตัวปัญหา
14. เวลาที่ท่านไปเยี่ยมบังเอิญผู้ป่วยเกิดหลับ ขอให้ท่านสวดภาวนาเงียบๆ หากมีสมาชิกในครอบครัวอยู่ด้วย ท่านอาจใช้เวลานั้นไถ่ถามถึงความต้องการและสถานการณ์ต่างๆ ของพวกเขาด้วยก็ได้

หลังการเยี่ยม
1. เขียนบันทึกเกี่ยวกับกิจกรรมของท่านต่อผู้ป่วยที่ท่านไปเยี่ยมมา มอบรายงานนั้นให้กลุ่มคริสตชนเล็กๆ และระลึกเสมอว่าทุกสิ่งที่พูดไว้เป็นความลับจะนำไปวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้
2. วางแผนการติดตามงานที่ให้สัญญาไว้ พยายามชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
3. สวดภาวนาให้ผู้ป่วยและครอบครัวที่ท่านไปเยี่ยมทุกวัน
4. เป็นการดีกว่าที่จะรวมจุดให้ความช่วยเหลือครอบครัวเดียวหรือผู้ป่วยคนเดียวด้วยความสัตย์ซื่อ แทนที่จะทำการเยี่ยมเยียนมากมายหลายแห่งแล้วเฉื่อยแฉะในการติดตามผล พยายามหาเพื่อนมาร่วมด้วยหลายๆ คนในพันธกิจนี้หากมีผู้ป่วยหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
5. การเยี่ยมครั้งต่อไป ควรโทรศัพท์ไปขอนัดเสียก่อน
6. เมื่อผู้ป่วยหายดีแล้วหรือเมื่อสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัวเสียชีวิตไป ขอให้ไปเยี่ยมต่ออีกระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยดีในสถานการณ์ใหม่
7. อย่ามอบความช่วยเหลือด้านการเงินจากกระเป๋าของท่านเอง โปรดจำไว้ว่าท่านไปในพระนามของพระคริสตเจ้าและท่านถูกส่งไปโดยชุมชน ท่านไม่อาจที่จะช่วยหลายๆ คนได้ หากท่านผูกพันกับครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจนเกินไป พวกเขาอาจไม่มีความสามารถที่จะคืนเงินให้ท่าน และนั่นอาจกลายเป็นปัญหาของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

การเยี่ยมผู้สูงอายุในโรงพยาบาล
หลักการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านใช้ได้หมดยกเว้นข้อต่อไปนี้
1. ต้องเป็นการเยี่ยมที่ใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพราะต้องคำนึงถึงกฎระเบียบของโรงพยาบาลและสภาพของผู้ป่วย
2. ขออนุญาตผู้ป่วยก่อนที่จะนั่งที่ขอบเตียง การนั่งที่ขอบเตียงก็เพื่อที่จะไม่ให้ผู้ป่วยต้องเกร็งมองหรือฟังท่าน
3. หากท่านรู้จักกับผู้ป่วยดี ให้จับมือเขาเพื่อแสดงถึงความสนิทสนม
4. ฟังให้มากกว่าพูด
5. ไม่เหมาะสมที่ท่านจะเสนอแพทย์คนนั้นคนนี้หรือเปลี่ยนวิธีการรักษา แม้ว่าท่านจะรู้สึกว่าอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นก็ตาม ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือเกิดอาการสับสนขึ้นได้
6. อย่าสอดรู้สอดเห็นไปในจุดที่ไม่ควรรู้เพื่อสนองตัณหาความอยากรู้อยากเห็นของท่าน อย่าอ่านแผ่นกระดานชาร์ตผู้ป่วยที่ปลายเตียงเพื่อทราบว่าแพทย์สั่งยาอะไรไปบ้าง จงพอใจกับข้อมูลที่ผู้ป่วยพูดให้ฟังเท่านั้น
7. จงสนทนาแบบสร้างสรรค์และให้กำลังใจโดยไม่ต้องตัดสินอะไรทั้งสิ้น
8. จงมีความรู้สึกไวต่อผู้ป่วยอื่นๆ ในห้อง ทักทายพวกเขาอย่างมีมารยาทเมื่อแรกพบและเมื่ออำลา อย่าส่งเสียงดังหรือสวดดังเกินควร บทขับร้องและบทสวดยาวๆ อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก

Home  << __Back << __>>  Next
Information
สื่อแผนกสุขภาพ
แผนงานเวชบุคคลคาทอลิก 2014
ประเมินผลงานเวชบุคคล 2014
แผนงานผู้สูงอายุ 2014
ประเมินผลงานผู้สูงอายุ 2013>
VCD งานด้านเอดส์
VCD งานผู้สูงอายุ
ทำเนียบหน่วยงานด้านเอดส์
ทำเนียบชมรมผู้สูงอายุคาทอลิก
ทำเนียบชมรมเวชบุคคลคาทอลิก
ทำเนียบหน่วยงานสุขภาพ
SuratThani Diocese Ratchaburi Diocese Bangkok Archdiocese Chanthaburi Diocese Nakhonratchasima Diocese Nakhonratchasima Diocese Ubon Ratchathani Diocese Tharae Archdiocese Udon Thani Diocese NakhonSawan Diocese Chieng Mai Diocese Chieng Mai Diocese Nakhonsawan Diocese Ratchaburi Diocese Suratthani Diocese Chthaburi Diocese Nakhonratchasima Diocese Ubonratchathani Diocese Tharae Arcdiocese Udonthani Diocese แผนที่
เครือข่ายผู้สูงอายุ
เครือข่ายเวชบุคคล
เครือข่ายงานเอดส์
Chieng Mai Diocese NakhonSawan Diocese Udon Thani Diocese Tharae Archdiocese Ubon Ratchathani Diocese Nakhonratchasima Diocese Nakhonratchasima Diocese Chanthaburi Diocese Bangkok Archdiocese Ratchaburi Diocese SuratThani Diocese


 


© CHC
สำนักเลขาธิการ :
122/11 ถนนนนทรี 14 เขตยานนาวา  กรุงเทพฯ 10120
Tel. / Fax. 66 2 681 5857 E-mail : chc@cbct.net